ลักษณะของโครงการ

โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ก่อสร้างเป็นทางยกระดับบนเกาะกลางของทางหลวงหมายเลข 35 หรือถนนพระราม 2 ซึ่งเป็นมอเตอร์เวย์ที่มีการควบคุมการเข้า-ออกอย่างสมบูรณ์ (Full Control of Access) เพื่อรองรับการขับขี่ด้วยความเร็วตามกฎหมายกำหนดได้อย่างปลอดภัยและมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียดของโครงการ ประกอบด้วย

1. แนวเส้นทางโครงการ

เส้นทางโครงการอยู่บนทางหลวงหมายเลข 35 มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่ กม.11+959 ของทางหลวงหมายเลข 35 ในพื้นที่เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และสิ้นสุดที่ กม.36+645 ของทางหลวงหมายเลข 35 ในพื้นที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร รวมระยะทาง 24.7 กิโลเมตร

2. ทางขึ้น-ลงทางยกระดับและด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง

ออกแบบทางขึ้น-ลงทางยกระดับเป็นทางลาดขนาด 2 ช่องจราจร ให้สามารถใช้เป็นสะพานกลับรถร่วมด้วย พร้อมติดตั้งด่านจัดเก็บค่าผ่านทาง เพื่อรองรับการเดินทางเชื่อมต่อกับโครงข่ายถนนที่สำคัญตลอดแนวสายทาง จำนวน 6 แห่ง ดังนี้

  1. ด่านพันท้ายนรสิงห์ ที่ กม.16+125 เชื่อมต่อเส้นทางกับถนนแสมดำ
  2.  ด่านมหาชัย 1 ที่ กม.20+031 เชื่อมต่อเส้นทางกับทางหลวงหมายเลข 3242 (ถนนเอกชัย)
  3. ด่านมหาชัย 2 ที่ กม.25+100 เชื่อมต่อเส้นทางกับทางหลวงหมายเลข 3242 (ถนนเอกชัย)
  4. ด่านสมุทรสาคร 1 ที่ กม.27+100 เชื่อมต่อเส้นทางกับทางหลวงหมายเลข 3091 (ถนนเศรษฐกิจ)
  5. ด่านสมุทรสาคร 2 ที่ กม.29+625 เชื่อมต่อเส้นทางกับทางหลวงหมายเลข 3091 (ถนนเศรษฐกิจ)
  6. ด่านบ้านแพ้ว ที่ กม.36+500 เชื่อมต่อเส้นทางกับทางหลวงหมายเลข 375 สายบ้านบ่อ-ลำลูกบัว
    และด่านจัดเก็บค่าผ่านทางบริเวณจุดเชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก เพื่อการเดินทางที่สะดวกสบายไร้รอยต่อ
3. รูปแบบโครงสร้างทางยกระดับ

โครงการเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ทิศทางละ 3 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจรละ 3.60 เมตร แบ่งทิศทางจราจรด้วยกำแพงคอนกรีตกว้าง 0.60 เมตร พร้อมไหล่ทางด้านในกว้าง 1.00 เมตร และไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.00 เมตร

4. การจัดเก็บค่าผ่านทาง

กำหนดการจัดเก็บค่าผ่านทางแบบระบบปิด (Closed System) คิดค่าผ่านทางตามระยะทางที่ใช้จริง ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือระบบ M-Flow เพื่อการเดินทางที่สะดวกและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

5. ระบบควบคุมและบริหารจัดการจราจร (Traffic Control Surveillance System)

เป็นระบบที่ทำหน้าที่อำนวยการจราจรที่สะดวกและปลอดภัยให้กับผู้ใช้ทางหลวงพิเศษ โดยควบคุมและสั่งการจากศูนย์ควบคุมกลาง (Central Control Building: CCB) ไปยังเครื่องมืออุปรณ์ต่างๆ ตลอดแนวสายทาง ประกอบด้วย

  • ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV System)
  • ระบบป้ายแจ้งข้อความแบบเปลี่ยนข้อความได้ (Variable Message Sign: VMS)
  • ระบบโทรศัพท์ฉุกเฉิน (Emergency Telephone System: ETS)
  • ระบบตรวจจับอุบัติการณ์จราจร (Automated Incident Detection System: AIDS)
  • ระบบตรวจวัดการจราจร (Automatic Traffic Detection System: ATID)
  • ระบบกล้องตรวจจับความเร็วอัตโนมัติ (Automated Speed Enforcement System: ASE)
  • ระบบโครงข่ายสื่อสารข้อมูลแบบใยแก้วนำแสง (Data Communication Network System
  • ระบบโทรศัพท์ IP Phone (IP Telephone System)
  • ระบบวิทยุสื่อสาร (Radio Communication)
  • ระบบนาฬิกามาตรฐาน (Clock System)
6. ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล

ประกอบด้วยการดำเนินงาน 2 ส่วน ได้แก่ งานออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่างตามแนวเส้นทาง งานออกแบบระบบไฟฟ้าและเครื่องกลประกอบอาคาร

7. ระบบไฟฟ้าและสื่อสาร

ทำหน้าที่จ่ายพลังงานไฟฟ้าให้ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง และกลุ่มอาคารศูนย์ควบคุมกลาง เพื่อจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่อุปกรณ์อื่นๆ ในอาคาร โดยต้องจัดให้มีระบบไฟฟ้าสำรองที่เพียงพอในกรณีที่แหล่งจ่ายไฟหลักเกิดเหตุขัดข้องไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้

8. กลุ่มอาคารศูนย์ควบคุมกลาง

มีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของกรมทางหลวงที่จัดเตรียมไว้ เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการควบคุมการจราจร รวมถึงอำนวยความสะดวกและปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทาง ได้แก่

  • อาคารศูนย์ควบคุมกลาง (CCB)
  • กองกำกับการตำรวจทางหลวง
  • อาคารศูนย์ดำเนินงานและบำรุงรักษา
  • อาคารปฏิบัติงานซ่อมบำรุง